ตำนาน ” รินขนมไทย “

     ผู้นำธุรกิจขนมหวานไทยของฉะเชิงเทรา โดยการไต่เต้ามาจากอุตสาหกรรมในครอบครัวของนายวิทยา  น้อยใจบุญ ซึ่งได้รับถ่ายทอดสูตรและเคล็ดลับในการปรุงขนมชนิดต่าง ๆ มาจากบรรพบุรุษซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวโรงสีล่าง ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา  อันเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวแปดริ้วรุ่นเก่าถึงกิตติศัพท์ทางฝีมือขนมหวานของชาวละแวกนั้นมาช้านาน  ผีมือขนมหวานของคุณยาย โดยเฉพาะขนม “กระยาสารท” ซึ่งเรารู้สึกมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า อร่อยกว่ากระยาสารททั่ว ๆ ไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำขนม “กระยาสารท” เป็นการค้าภายใต้ชื่อว่า “ริน”  ซึ่งมาจากชื่อของบุตรสาวคนที่ 2 โดยเริ่มศึกษาจากครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ ทดลองทำและค้นคว้าด้วยตนเองจากตำรา ปรับปรุงพัฒนาดัดแปลงส่วนผสมและวิธีการให้ทันสมัย

     เมื่อ พ.ศ. 2517 นายวิทยา ได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งของบ้าน ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับฟาร์มไก่ที่บ้านบางพระ ต.โสธร เป็นโรงงานผลิตขนม  ด้วยทุนก่อตั้งหมื่นกว่าบาทซึ่งในระยะ 2 ปีแรกทำกระยาสารทอย่างเดียว การจำหน่ายยังไม่ได้วางขายตามร้าน เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่รู้จักขนมริน  ร้านค้ามักปฏิเสธที่จะรับขนมไว้ขาย แม้จะให้ชิมและให้วางขายล่วงหน้าโดยยังไม่เก็บเงินก็ตาม นายวิทยาจึงต้องขายเองในวงศ์ญาติ และเพื่อน ๆ ซึ่งยอดขายน้อยมาก ปัญหาใหญ่ในระยะ 3 ปีแรกคือ ไม่สามารถเจาะตลาดได้อย่างกว้างขวาง ทางแก้คือเขาเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ขนมติดตลาดด้วยการนำขนมเป็นของฝากแก่คนรู้จักทั่วไป และการออกร้านตามงานต่าง ๆ ไม่ว่างานใหญ่หรือเล็ก แม้ว่าจะกำไรหรือขาดทุน ทั้งนี้จุดประสงค์อยู่ตรงที่ให้ตลาดรู้จัก หากคนรู้จักขนมแล้ว คุณภาพและความอร่อยของขนมจะขยายตลาดเองได้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จนับแต่ปีที่ 4 เป็นต้นมา  กอรปกับการได้รับใบประกาศ “เชลล์ชวนชิม” จาก ม.ร.ว. ถนัดศรี  สวัสดิวัฒน์ จำนวน 3 ใบ ในระยะเวลาต่าง ๆ กัน เป็นเครื่องยืนยันในคุณภาพความอร่อยทำให้สินค้า “ริน” ได้รับการยอมรับมากขึ้นตามลำดับ นายวิทยา จึงได้ยึดธุรกิจขนมหวานเต็มตัว โดยเพิ่มชนิดของขนมมากขึ้นเรื่อย ๆ  เช่น ขนมชั้น ขนมหม้อแกง ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน วุ้นกะทิ วุ้นหวาน ขนมดอกลำดวน และยังมีขนมไทย ๆ อีกกว่า 20 ชนิดในปัจจุบัน  วันหยุดราชการจะทำขนมพิเศษจำหน่ายหน้าร้านและเทศกาลต่าง ๆ ก็ทำขนมตามเทศกาลเช่น ตรุษจีน-สารทจีน ทำขนมเทียน , ขนมเข่ง ฤดูผลไม้ทำขนมตามฤดูกาลเฉพาะประเภทผลไม้ เช่น หน้าสาเก ทำสาเกเชื่อม, หน้าลำไย ทำตะโก้ลำไย เป็นต้น  ช่วงเทศกาลปีใหม่รับจัดกระเช้าของขวัญปีใหม่โดยใช้ขนมไทยล้วน ๆ
รวมระยะเวลาที่เปิดกิจการประกอบการขนมหวานมา 30 ปี เป็นความภูมิใจที่ร้านรินเติบโตขึ้นด้วยความพยายาม อุตสาหะ อดทน ซื่อสัตย์ จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเสมือนหนึ่งว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา

เกียรติคุณที่ได้รับ

-  ขนมกระยาสารท ได้รับคัดเลือกเป็นขนม “เชลล์ชวนชิม” พ.ศ. 2521
-  ขนมหม้อแกง ขนมชั้น เม็ดขนุนและขนมหวานต่าง ๆ ได้รับ “เชลล์ชวนชิม” พ.ศ. 2523
-  ข้าวตังเสวย ได้รับคัดเลือกเป็นขนม “เชลล์ชวนชิม” พ.ศ. 2534
-  ได้รับโล่เกียรติยศคุณภาพสินค้าไทย ปี พ.ศ. 2535 จากนิตยสารอินเตอร์บิสสิเนส
-  ขนมข้าวตังหน้างา ได้รับรางวัลดีเด่น ในการประกวด ผลิตภัณฑ์จากข้าว ประเภท ข้าวตังทรงเครื่องจาก
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี พ.ศ. 2545
-  ขนมข้าวตังหน้ากุ้ง ได้รับรางวัลดี ในการประกวด ผลิตภัณฑ์จากข้าว ประเภท ข้าวตังทรงเครื่อง จาก
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี พ.ศ.2545
-  ขนมกะละแม ได้รับรางวัลดี ในการประกวด ผลิตภัณฑ์จากข้าว ประเภท กะละแม จาก
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี พ.ศ.2545
-  พ.ศ. 2545 ได้เข้าร่วม โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สินค้าที่ได้รับรางวัลจากการเข้าประกวดคัด
สรรสุดยอดสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เมื่อกลางปี พ.ศ. 2546 คือ กระยาสารทและข้าวตังหน้ากุ้ง
ได้รับรางวัลระดับ 5 ดาว ขนมใบจากได้รับรางวัลระดับ 4 ดาว (ระดับจังหวัด)
-  กระยาสารท “ริน” ได้รับรางวัล OTOP Product Champion 5 ดาว ระดับภาคกลางประจำปี พ.ศ.2546
-  ข้าวตังหน้ากุ้ง  “ริน” ได้รับรางวัล OTOP Product Champion 4 ดาว ระดับภาคกลางประจำปี พ.ศ.2546
-  ขนมไทย “ริน” ได้รับรางวัล OTOP Product Champion ระดับ  4 ดาว ประจำปี พ.ศ.2547
-  ขนมไทย “ริน” ได้รับรางวัล OTOP Product Champion ระดับ  5 ดาว ประจำปี พ.ศ.2549
-  ข้าวตังหน้ากุ้ง ,ข้าวตังหน้างา ได้รับโล่เกียรติยศมาตรฐานด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและการบรรจุ (OTOP
TOP AWARD) ในงานเกษตรแฟร์  ประจำปี  2549
-  กระยาสารทและขนมไทย “ริน” ได้รับ “มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน”  พ.ศ.2547  ,พ.ศ.2548 ,พ.ศ.2549
-  พ.ศ.2549  ร้านรินได้รับมาตรฐาน  GMP  จากสำนักงานสาธารณสุขฉะเชิงเทรา